evaluation

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ 2553 : 30) กำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียนไว้ดังนี้

ระดับประถมศึกษา

1. ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมด

2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัด และผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา

4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมิน และมีผลการประเมินผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ระดับมัธยมศึกษา

1. ตัดสินผลการเรียนเป็นรายวิชา ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนตลอดภาคเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดในรายวิชานั้นๆ

2. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัด และผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

3. ผู้เรียนต้องได้รับการตัดสินผลการเรียนทุกรายวิชา

4. ผู้เรียนต้องได้รับการประเมิน และมีผลการประเมินผ่านตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ในการอ่าน

คิดวิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การพิจารณาเลื่อนชั้นทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ถ้าผู้เรียนมีข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย และสถานศึกษาพิจารณาเห็นว่าสามารถพัฒนาและสอนซ่อมเสริมได้ให้อยู่ในดุลพินิจของสถานศึกษาที่จะผ่อนผันให้เลื่อนชั้นได้ แต่หากผู้เรียนไม่ผ่านรายวิชาจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น สถานศึกษาอาจตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้เรียนซ้ำชั้นได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ปัญหาที่พบคือ การจัดทำแบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชาของสถานศึกษา หรือที่หลายคนคุ้นหูคือแบบ ปพ.5 นั้น ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียนที่หลักสูตรกำหนด โดยเฉพาะในเกณฑ์ที่ 2 ผู้เรียนไม่ได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัด และสถานศึกษาหลายแห่งยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์การผ่านไว้อย่างชัดเจน ลองตรวจสอบดูว่า แบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชาของสถานศึกษา ปรากฏผลการประเมินตัวชี้วัดว่าผู้เรียนผ่านหรือไม่ผ่านหรือไม่อย่างไรและผ่านกี่ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดหรือไม่ ส่วนมากเท่าที่พบคือ ครูผู้สอนมักจะใส่คะแนนในแต่ละตัวชี้วัดเพื่อทำเป็นคะแนนระหว่างเรียนหรือคะแนนเก็บเพื่อนำไปรวมกับคะแนนการทดสอบปลายภาคหรือปลายปี ถามว่าที่ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นไปตามเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียนที่หลักสูตรกำหนดหรือไม่ ลองคิดทบทวนดูนะครับ

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุม

สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2533.

ลองดูตัวอย่างแบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชากันหน่อยดีไหม คลิกที่นี่

ดาวน์โหลดไฟล์ Microsoft Word แบบบันทึกผลการเรียน (เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปิดไฟล์นี้จะต้องติดตั้ง Font TH SarabunPSK และ TH SarabunIT๙) คลิกที่นี่